ทำไมต้องมีการบ้าน

บทความ “ทำไมต้องมีการบ้าน” โดย ทีมงาน Greater Marks:

อะไรคือจุดประสงค์หลักที่อาจารย์สั่งให้เรา ทำการบ้าน กันนะครับ? — อันที่จริง จุดประสงค์หลักของการที่อาจารย์สั่งให้เรา ทำการบ้าน นั้น อาจแตกต่างกันไปตามเป้าหมายของระดับการศึกษา แต่ทว่า ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับใด จุดประสงค์หลักทั่วไปในการสั่งการบ้านนั้น ดูจะเหมือนๆ กันครับ วันนี้ Greater Marks ได้รวบรวมเอาหลักการ และเหตุผล ที่ว่า ทำไมต้องมีการบ้าน มาให้ทุกท่านอ่านกันเพลินๆ นะครับ

3 เหตุผลสำคัญ ที่ว่า: ทำไมต้องมีการบ้าน

1. การเสริมการเรียนรู้ (Reinforcement of learning)

การเสริมการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการเสริมสร้างและการหลอมรวมความรู้และทักษะ ที่จะได้จากการฝึกฝน และการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก การบ้านมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะทำให้เราได้มีโอกาสทบทวน และใช้แนวคิดและทักษะที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนครับ

การบ้าน = การฝึกฝน
การฝึกฝน = ความชำนาญ

การบ้านมักจะมาในรูปแบบของแบบฝึกหัด โจทย์ปัญหา หรืองานรูปแบบต่างๆ ที่เราต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับเนื้อหาในรายวิชา ในขณะที่ ทำการบ้าน นั้น เราจะได้ฝึกฝนสิ่งที่ได้เรียนรู้ เสริมสร้างความเข้าใจ และเสริมสร้างความสามารถในการใช้ความรู้และทักษะต่างๆ และด้วยการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่านี่ล่ะครับ ที่จะทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยกับเนื้อหาในรายวิชา สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในที่สุด

ในส่วนของการประยุกต์ใช้ความรู้นั้น การบ้านมักจะกำหนดให้เราใช้แนวคิดและทักษะที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียน เข้ากับสถานการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง หรือบริบทใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยได้เรียน การประยุกต์ใช้ความรู้ในบริบทใหม่ๆ นี้ช่วยให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งที่ได้เรียนรู้กับโลกความเป็นจริง เมื่อเราได้ลองประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาในการจัดการกับปัญหาใหม่ๆ เราจะพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะช่วยเสริมความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ต่อไป

โดยปกติแล้ว เราจะจดจำสิ่งที่ได้ยิน อ่าน หรือเห็นในห้องเรียนเพียงประมาณ 50% หรือน้อยกว่านั้น อย่างไรก็ตาม การบ้านช่วยในการเสริมการจดจำเนื้อหาในห้องเรียนให้เพิ่มมากขึ้นครับ เพราะในขณะที่ ทำการบ้าน นั้น เราจะต้องดึงข้อมูลจากหน่วยความจำในสมอง และนำไปใช้ในการ ทำการบ้าน การดึงข้อมูลจากสมองมาใช้ บวกเข้ากับการประยุกต์กับบริบทต่างๆ ช่วยเสริมสร้างการเชื่อมต่อของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียนรู้ ทำให้เราจดจำได้มากขึ้น และสามารถรักษาความรู้นั้นในระยะยาวได้

2. โอกาสในการเรียนรู้อย่างอิสระ (Independent learning)

การเรียนรู้อย่างอิสระ หมายถึง การใช้ความสามารถของเราเองในกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ทำให้ได้รับความรู้ และทักษะด้วยตนเอง โดยปราศจากการดูแล หรือชี้แนะจากอาจารย์อยู่ตลอดเวลา และการบ้านนี่ล่ะครับ ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างอิสระ

การบ้าน = ความรับผิดชอบส่วนตัว

โอกาสในการเรียนรู้อย่างอิสระ ช่วยสร้างวินัยในตนเอง เพราะทำให้เราต้องจัดการเวลาและจัดลำดับความสำคัญงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ เราต้องจัดสรรเวลาสำหรับทำการบ้านให้เสร็จ การจัดสรรเวลาดังกล่าว ช่วยให้เราพัฒนาวินัยในตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่มีคุณค่าไม่เฉพาะในด้านวิชาการเท่านั้น แต่รวมถึงด้านต่างๆ ของชีวิตด้วยครับ จะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การบ้านช่วยให้เราเรียนรู้วิธีจัดการเวลาอย่างชาญฉลาด เพราะเราต้องจัดสรรเวลาให้เพียงพอสำหรับการบ้าน ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสมดุลของกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมที่ต้องทำกับเพื่อนๆ และครอบครัว ตลอดจนงานพาร์ทไทม์อื่นๆ (ถ้ามี) การวางแผน และจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้เราเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากเวลาที่จำกัด ส่งผลให้เราปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการทำงานของตนเอง การบ้านเป็นความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของเราเอง เรามีหน้าที่ต้องทำงานให้เสร็จ จึงต้องเรียนรู้ที่จะบริหารการเรียนรู้อย่างอิสระของตนเอง เพราะมันส่งผลโดยตรงต่อผลการเรียน ความรับผิดชอบนี้ส่งเสริมทัศนคติเชิงรุกต่อการเรียนรู้ ทำให้เราลงแรงในความสำเร็จด้านการศึกษามากขึ้นครับ การบ้านทำให้เราต้องพึ่งพาตนเอง เราต้องพึ่งพาความสามารถในการแก้ปัญหา ทักษะการคิดวิเคราะห์ และไหวพริบในการหาทางออกของตนเอง กระบวนการแก้ปัญหาอย่างอิสระนี้ ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนากลยุทธ์ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอีกด้วย

3. การพัฒนาทักษะ (Skill development)

การบ้านสามารถช่วยให้เราพัฒนา และขัดเกลาทักษะทางวิชาการที่จำเป็น เช่น การอ่าน การเขียน การแก้ปัญหา การคิดเชิงวิพากษ์ ตลอดจน การวิจัย ด้วยการฝึกฝนทำให้เราสามารถพัฒนาความสามารถในทักษะทางวิชาการเหล่านี้ได้

ในส่วนของทักษะการอ่าน แน่นอนครับ การบ้านมักจะกำหนดให้เราอ่าน และทำความเข้าใจข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา การอ่านเป็นประจำจะช่วยให้เราปรับปรุงความเร็วในการอ่าน การทำความเข้าใจ และคลังคำศัพท์ เราจะได้เรียนรู้วิธีวิเคราะห์ และตีความข้อมูล แยกแนวคิด และทำการอนุมาน นอกจากนี้ การได้เห็นข้อความประเภทต่างๆ ผ่านตา ช่วยขยายฐานความรู้ และเพิ่มความสามารถในการอ่านโดยรวม

ใน่สวนของทักษะการเขียนนั้น การบ้าน = การเขียน ครับ เช่น การเขียน Essay และ รายงาน เมื่อเรา ทำการบ้าน เราจะมีโอกาสได้ฝึกการเขียนอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้พัฒนาทักษะการเขียน ตลอดจนทักษะทางด้านไวยากรณ์ โครงสร้างประโยค การเชื่อมโยงประโยค และอื่นๆ เราจะได้เรียนรู้วิธีแสดงแนวคิดอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาข้อโต้แย้งเชิงตรรกะ และถ่ายทอดข้อมูลอย่างชัดเจนและรัดกุม

ในส่วนของทักษะการแก้ปัญหา โดยทั่วไปแล้วนั้น การบ้านมักจะจะมีแบบฝึกหัดการแก้ปัญหา เมื่อเราได้แก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยตนเองบ่อยๆ เราจะพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เหตุผลเชิงตรรกะ และการคิดวิเคราะห์ เราจะได้เรียนรู้ที่จะใช้แนวคิดที่เรียนรู้ในห้องเรียนกับสถานการณ์จริง สร้างแนวทางต่างๆ ในการแก้ปัญหา และประเมินกลยุทธ์ที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหา ด้วยการฝึกฝนการแก้ปัญหาอย่างสม่ำเสมอ เราจะมีความชำนาญในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ในส่วนของทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การบ้านช่วยกระตุ้นให้เราคิดวิเคราะห์ และพัฒนาความสามารถในการประเมินข้อมูล และสร้างข้อโต้แย้ง ในงานบางงาน เช่น งาน Critical Analysis Essay เราอาจจะต้องวิเคราะห์ข้อความ ระบุอคติในข้อความ ประเมินความถูกต้องของ Augments ต่างๆ และนำเสนอความคิดเห็นของตนเองตาม References ต่างๆ เมื่อเราทำการบ้าน เราจะได้เรียนรู้ที่จะคิดอย่างอิสระ ตั้งสมมติฐาน พิจารณามุมมองทางเลือก และพัฒนาข้อโต้แย้งที่เป็นเหตุเป็นผลของตนเอง ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์เหล่านี้มีประโยชน์ไม่เพียงแต่ในด้านวิชาการเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมถึงในชีวิตประจำวัน และการตัดสินใจในแง่มุมต่างๆ ด้วย

ท้ายที่สุด ในส่วนของทักษะการวิจัย ในการบ้านบางงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานเขียน Essay เราต้องทำการวิจัย รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อสังเคราะห์เนื้อหาของเราเอง เมื่อเราได้ทำการวิจัยจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เราจะพัฒนาทักษะการวิจัย รวมถึงทักษะสารสนเทศ การประเมินแหล่งที่มาข้อมูล และแนวปฏิบัติในการอ้างอิง (Reference Styles ต่างๆ) เราจะได้รู้จักกับฐานข้อมูลต่างๆ และใช้แหล่งข้อมูลออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแยกข้อมูลที่น่าเชื่อถือออกจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือได้ ทักษะการวิจัยเหล่านี้มีประโยชน์ในการศึกษาระดับสูงขึ้น ด้วยการทำการบ้าน เราจะมีโอกาสพัฒนา และขัดเกลาทักษะทางวิชาการที่จำเป็นเหล่านี้ครับ


กล่าวโดยสรุป: ทำไมต้องมีการบ้าน

การเสริมการเรียนรู้ (Reinforcement of learning), การสร้างโอกาสในการเรียนรู้อย่างอิสระ (Independent learning), และ การพัฒนาทักษะ (Skill development) ล้วนเป็นจุดประสงค์หลักที่อาจารย์สั่งการบ้านครับ ที่จริง อาจจะมีเห็นผลอื่นๆ มากกว่านี้ (เช่น การเตรียมตัวสำหรับบทเรียนต่อไป) แต่ 3 เหตุผลนี้ ดูจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมต้องมีการบ้าน รู้อย่างนี้แล้ว เราจะมองเห็นข้อดีของการมีการบ้านกันบ้างไหมนะครับ แฮ่ 😊

อ้างอิง (Harvard Referencing Style):

Lathan, J., 2020. Is Homework Necessary? Education Inequity and Its Impact on Students. [Online]
Available at: https://onlinedegrees.sandiego.edu/education-inequity-and-homework
[Accessed 27 Jun 2023].

Singh, S., 2023. Why Homework is Important for Building Responsibility and Discipline. [Online]
Available at: https://gobookmart.com/why-homework-is-important-for-building-responsibility-and-discipline/
[Accessed 27 Jun 2023].

Vinikas, I., 2022. Independent Learning: What It Is and How It Works. [Online]
Available at: https://corp.kaltura.com/blog/independent-learning/
[Accessed 27 Jun 2023].

Younas, A., Azhar, F. & Urooj, U., 2019. Role of Reinforcement of Learning Across the Continuum of Education: A Scoping Review. Journal of the Dow University of Health Sciences, 13(3), pp. 154-164. https://doi.org/10.36570/jduhs.2019.3.695.


บทความโดย ทีมงาน Greater Marks
🖊️ รับทำการบ้าน 
LINE id: @orderwork

🆕 Live Chat 💬 คลิ๊กที่นี่

Scroll to Top